RSS

ซื้อทองหรือซื้อสลากออมสินดีกว่ากัน


มีผู้อ่านส่งคำถามมาถามในเมลล์ว่า ระหว่างซื้อทองกับซื้อสลากออมสิน อันไหนดีกว่ากันคะ?  แหม…คำถามนี้ ตอบยากอยู่นะคะ มันขึ้นอยู่กับเหตุผลของแต่ละคน ถ้าคุณไปถามคนที่เล่นทอง เค้าก็จะตอบเชียรืให้คุณซื้อทอง , ถ้าคุณไปถามคนที่ซื้อแต่สลากออมสิน เค้าก็จะเชียร์คุณซื้อสลากออมสินคะ อยากแนะนำนะคะให้ถามตัวเองก่อนว่า ชอบแบบไหน เป็นคนยอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน มีเงินลงทุนเท่าไหร่ แนะนำให้สำรวจความพร้อมก่อนการลงทุนคะ ตามลิงค์นี้นะคะ บางทีคุณอาจจะเจอคำตอบในใจหละว่า ที่จริงแล้วนิสัยคุณเหมาะกับลงทุนแบบไหน

   ว่ากันว่า เรื่องของการลงทุน ก็คือการออมเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่มากขึ้นคะ แต่ไอ้เจ้าผลตอบแทนที่มากขึ้น ย่อมมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเหมือนกันคะ ลักษณะนิสัยคนที่ไม่ชอบเสี่ยง ชอบทำงานที่มั่นคง ผู้เขียนก็แนะนำ ซื้อสลากออมสินเถอะคะ เพราะอย่างน้อยเงินต้นก็ไม่หาย แถมได้ดอกเบี้ยและลุ้นเงินรางวัลได้ด้วยคะ  ส่วนคนที่ลักษณะนิสัย ชอบสบายๆ ชอบเสี่ยง ชอบลองสิ่งใหม่ๆไม่ชอบอยู่กับที่ แนะนำซื้อทองคะ จริงๆทั้ง 2 อย่างนี้ผู้เขียนค้นพบว่าให้ความสุขแตกต่างกันคะ

ซื้อสลากออมสิน : ให้ความสุขช่วงวันที่ 16 ของเดือนคะ คือมันเหมือนลุ้นรางวัลใหญ่ แต่จะได้ ไม่ได้ ก็อีกเรื่องนึง แต่จะรู้สึกกระปี้กระเป่าทุกวันที่ 16 ของเดือนจนคนรอบข้างทักเลยทีเดียว

ซื้อทอง : ให้ความสุขตอนช่วงที่ซื้อมาแล้วรอจังหวะทองขึ้น แบบมีกำไรติดมือ กับความสุขช่วงทองลงเยอะๆแล้วได้ซื้อทองในราคาถูก อันนี้ก็ลุ้นเหมือนกันคะ แต่มันไม่มีอะไรแน่นอนเหมือนสลากออมสิน คือรู้แน่ๆว่าได้เท่าไหร่ ต้องรอลุ้นรางวัลวันไหน ซื้อทองยังไงก็ราคาขึ้นทุกปีอยู่แล้ว ในระยะยาวก็ทำกำไรได้คะ

แต่ทั้ง 2 อย่างที่เหมือนกันคือ การลงทุนอย่างน้อยก็เป็นการเพิ่มรายได้ให้เราได้คะ

 
 

ป้ายกำกับ:

ตรวจเช็คความเสี่ยง ก่อนการลงทุน


 “การลงทุน” เป็นเรื่องที่ใครหลายคนให้ความสนใจ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงินไว้กับธนาคารเปรียบเสมือนให้เงินทำงานผ่านการลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วนักลงทุนมุ่งให้ความสนใจที่ผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุนเป็นอันดับแรก โดยไม่รู้ว่าการลงทุนนั้นเหมาะสมกับตนเองหรือไม่ และละเลยถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการลงทุน ด้วยเหตุนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงมีข้อกำหนดใหม่ เพื่อส่งเสริมให้นักลงทุนมีความรู้และความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ทางการเงิน รวมไปถึงระดับความเสี่ยงต่างๆ ก่อนที่ตัดสินใจลงทุน

ข้อกำหนดใหม่ของ ก.ล.ต. กำหนดไว้ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา บริษัทจัดการกองทุนจะสามารถขายหน่วยลงทุนให้กับนักลงทุนได้ ก็ต่อเมื่อนักลงทุนมีการทำแบบสอบถามประเมินความเสี่ยงในการลงทุนแล้วเท่านั้น ซึ่งอายุของแบบสอบถามประเมินความเสี่ยง จะมีอายุอยู่ได้ 2 ปีค่ะ แต่ในระหว่างนี้ หากนักลงทุนเห็นว่าตนมีพฤติกรรมการลงทุนที่เปลี่ยนไป สามารถทำแบบประเมินครั้งใหม่ได้ตลอดเวลานะคะ เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนได้อย่างเหมาะสม
แบบสอบถามประเมินความเสี่ยง (Customer Risk Profile) มีคำถามทั้งสิ้น 11 ข้อค่ะ โดยจะสอบถามถึงข้อมูลส่วนตัว ทัศนคติ และพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุน โดยคำถามข้อที่ 11 เป็นคำถามที่ไม่มีผลต่อคะแนน เพียงแต่สอบถามถึงความสามารถในการรับความเสี่ยงด้านอัตราการแลกเปลี่ยนได้หรือไม่ เพราะกองทุนบางประเภทมีนโยบายการลงทุนในต่างประเทศจึงมีความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาด้วยค่ะ
เมื่อทำแบบสอบถามเสร็จสิ้นและทำการรวมคะแนนจากแบบสอบถามประเมินความเสี่ยงแล้ว สามารถมาตรวจเช็คกันได้เลยค่ะว่า ระดับความเสี่ยงของคุณ และระดับความเสี่ยงของกองทุนที่คุณสามารถลงทุนได้อยู่ในระดับใด ดังตารางด้านล่างนี้

*ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.kasikornasset.com

            จากตาราง หลายๆ คน คงยังสงสัยว่า “ระดับความเสี่ยงของกองทุนที่ลงทุนได้ ” คืออะไร แล้วมีความสำคัญอย่างไร สำนักงาน ก.ล.ต. ได้จัดเรียงความเสี่ยงของกองทุน ทั้งสิ้น 8 ระดับค่ะ โดยเรียงตั้งแต่ 1 ถึง 8 โดยที่ระดับ 1 จะเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด คือ ลงทุนตลาดเงินภายในประเทศ ไปจนถึงกองทุนระดับ 8 ซึ่งเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงสุด โดยลงทุนในทรัพย์สินทางเลือก เช่น ทองคำ น้ำมัน ค่ะ โดยในแต่ละระดับความเสี่ยงของกองทุนจะมีประเภทกองทุนรวมที่ควรลงทุน ดังนี้
ระดับความเสี่ยงของกองทุน                        ประเภทกองทุนรวมที่ควรลงทุน
                        ระดับ 1                          กองทุนรวมตลาดเงินในประเทศ
                        ระดับ 2                          กองทุนรวมตลาดเงิน
                        ระดับ 3                          กองทุนรวมพันธบัตร
                        ระดับ 4                          กองทุนรวมตราสารหนี้
                        ระดับ 5                          กองทุนรวมผสม (ตราสารหนี้และตราสารทุน)
                        ระดับ 6                          กองทุนรวมตราสารทุน
                        ระดับ 7                          กองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม
                        ระดับ 8                          กองทุนรวมที่ลงทุนในทรัพย์สินทางเลือก เช่น ทองคำ น้ำมัน เป็นต้น
            ยกตัวอย่างเช่น นายนิยม ชอบลงทุน ได้คะแนนจากการทำแบบสอบถามประเมินความเสี่ยงอยู่ที่ 28 คะแนน แสดงให้เห็นว่า นายนิยมเป็นนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ในระดับปานกลางค่อนข้างสูง ระดับความเสี่ยงของกองทุนที่ลงทุนได้คือ ระดับ 1 ถึง 5 โดยผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงนี้คือ กองทุนรวมตลาดเงินในประเทศ กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมพันธบัตร กองทุนรวมตราสารหนี้ และกองทุนรวมผสม (ตราสารหนี้และตราสารทุน)
            ทั้งนี้ หากนายนิยมต้องการลงทุนในกองทุนทองคำ นายนิยมจะสามารถลงทุนได้หรือไม่?(กองทุนทองคำมีความเสี่ยงอยู่ในระดับ 8 ซึ่งสูงกว่าระดับที่นายนิยมควรลงทุน) คำตอบคือ นายนิยมสามารถลงทุนในกองทุนทองคำได้ค่ะ แต่นายนิยมต้องลงนามรับทราบว่า ตนยอมรับความเสี่ยงในระดับที่สูงกว่าระดับปกติ ในใบคำสั่งซื้อกองทุน เมื่อลงนามเรียบร้อยแล้ว ทางบริษัทจัดการกองทุนจึงสามารถขายหน่วยลงทุนให้กับนายนิยมได้ค่ะ
            โดยนักลงทุนสามารถตรวจเช็คความเสี่ยงที่ตนรับได้ ก่อนการลงทุนกับเครือธนาคารกสิกรไทยผ่าน 2 ช่องทางค่ะ คือ ผ่านเว็บไซด์ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย www.kasikornasset.com หรือผ่านธนาคารกสิกรไทยทุกสาขาที่สะดวกค่ะ
การตรวจเช็คความเสี่ยง ก่อนการลงทุน จึงถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกในการลงทุนค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน ที่ธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนต่างๆ ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลากหลาย เพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากนักลงทุนในตลาดให้มากที่สุด ดังนั้น นักลงทุนมืออาชีพทั้งหลาย จึงควรรู้ถึงความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของเราก่อนที่จะตัดสินใจเลือกลงทุน เพื่อป้องกันไม่ให้ซื้อกองทุนที่ไม่เหมาะสมกับตนเอง อันเป็นสาเหตุให้ประสบกับความผิดหวัง หรือผลขาดทุนจากการลงทุนอย่างไม่ตั้งใจและรู้เท่าไม่ถึงการณ์

โดย : มัลลิกา ศุภธรรมวิทย์ ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาการเงินส่วนบุคคล  ธนาคารกสิกรไทย

 
ใส่ความเห็น

Posted by บน 03/04/2012 นิ้ว การลงทุน

 

ป้ายกำกับ:

เมื่อผิดนัดชำระหนี้ควรทำอย่างไร


การผิดนัดชำระหนี้เป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้
ปัญหาเรื่องหนี้สินเกิดขึ้นได้เสมอ หากไม่ระมัดระวัง ขาดการวางแผนที่ดี ปัญหาหนี้สินจะเกิดขึ้นและทำการแก้ไขได้หรือไม่ อยู่ที่การมองปัญหา-ตีโจทย์แตกหรือไม่ว่าปัญหาหนี้สินจริง ๆ แล้วเกิดจากสาเหตุอะไร สิ่งที่จะตามมาเมื่อเกิดปัญหาหนี้สินก็คือ การไม่สามารถชำระหนี้ได้ หรือ ชำระหนี้สินล่าช้า ปัญหาเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้เสมอทั้ง ๆ ที่เราวางแผนไว้เป็นอย่างดีแล้วก็ตาม ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ ในบางครั้งอาจเกิดจากเหตุสุดวิสัย ทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว เราควรทำอย่างไร

การผิดนัดชำระหนี้ หมายถึงการชำระหนี้ช้ากว่ากำหนด แต่ไม่ได้หมายถึงการไม่จ่าย ดังนั้นถ้าคุณเพิ่งจะผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรก ก็อย่าได้ตื่นตกใจจนเกินไป ให้ยึดสุภาษิตที่ว่า “สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” ทางฝ่ายเจ้าหนี้เองก็เข้าใจดีในเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ที่อาจจะเกิดจากเหตุสุดวิสัย แต่เนื่องจากเป็นความผิดครั้งแรก เจ้าหนี้มักจะไม่ถือเป็นเรื่องสำคัญอะไร ซึ่งเจ้าหนี้จะมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่อาจเกิดขึ้นกับลูกหนี้ได้ แต่ถ้าผิดนัดชำระหนี้ครั้งที่ 2 หรือ 3 นี่สิ ทางเจ้าหนี้คงต้องมีการสอบถามจากทางฝ่ายลูกหนี้เพื่อขอเหตุผลที่ฟังได้จากลูกหนี้

ถ้าได้รับคำตอบที่มีเหตุผลสนับสนุนเพียงพอ คุณก็จะได้เป็นลูกหนี้ที่ดีของเจ้าหนี้ต่อไป ดังนั้นการให้เหตุผลในการผิดนัดชำระหนี้ ควรพูดความจริง อย่างตรงไปตรงมาในส่วนที่สมควรเปิดเผย เพื่อให้เจ้าหนี้สบายใจว่า ลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ มีความจริงใจและตั้งใจในการให้เจ้าหนี้ได้รับรู้ปัญหา-สาเหตุ ในการผิดนัดชำระหนี้และให้เจ้าหนี้ได้มีส่วนร่วมในการให้คำแนะนำในการแก้ปัญหานั้น

ถ้าเป็นไปได้ในการชี้แจงเหตุผล ในการผิดนัดชำระหนี้ถ้าคุณมีสิ่งที่จะนำมาเป็นหลักฐานซึ่งอาจจะเป็นเอกสารหรืออะไรก็ตามที่ช่วยยืนยันและสร้างความน่าเชื่อถือในการที่คุณผิดนัดชำระหนี้เป็นเพราะเหตุสุดวิสัย ไม่ได้เป็นความตั้งใจที่จะผิดนัดชำระหนี้

เพียงเท่านี้คุณก็จะสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ได้โดยหลังจากที่คุณผิดนัดชำระหนี้แล้วคุณสามารถทำให้เจ้าหนี้มีความเชื่อถือคุณได้อยู่ จากการแก้ปัญหาด้วยวิธีข้างต้น ที่สำคัญอย่าลืมว่า เหตุผลในการผิดนัดชำระหนี้เป็นส่วนสำคัญที่สุด และแสดงให้เห็นว่าคุณไม่ได้เจตนาที่จะผิดนัดชำระหนี้ ถ้าทำได้ดังนี้จะทำให้เจ้าหนี้มองข้ามเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ของคุณกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปทันที

แต่อย่าลืมว่า การไม่ผิดนัดชำระหนี้โดยจ่ายชำระหนี้ให้ตรงกำหนดจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด.

 
ใส่ความเห็น

Posted by บน 01/04/2012 นิ้ว ออมเงิน

 

ภาษีเรื่องที่คุณไม่ควรละเลย


“นี่! เธอ ภ.ด.ง.91 คืออะไรหรอ เห็นคนอื่นพูดกันเยอะเหมือนกัน มันคือการเสียภาษีหรือเปล่า แล้วอย่างพนักงานเงินเดือนแบบเราจะต้องเสียภาษีหรือเปล่า ต้องเสียเท่าไหร่ เสียตอนไหน เออ…แล้วก็ได้ยินว่า มีการลดหย่อนภาษี และมีการได้เงินภาษีคืนด้วยนี่” คำถามนี้ถูกกรอกรัวลงไปในโทรศัพท์ ป่านนี้คนปลายสายคงมึน ไม่รู้จะเริ่มตอบคำถามยังไง เอาเป็นว่าเราจะมาเป็นผู้ตอบคำถามให้เอง

ภ.ง.ด.91

ภ.ง.ด.91 หรือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็คือ เงินเดือนของการจ้างแรงงาน ในกรณีของพนักงานเงินเดือนอย่างเราๆ หากได้เงินเดือนเกิน 20,000 บาท จะต้องเสียภาษี ภ.ง.ด.91 นี้ ซึ่งการเสียภาษีจะคำนวณจากรายได้เงินเดือนเป็นรายปี โดยมีการกำหนดวันยื่นการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคมของทุกปี

การคำนวณการเสียภาษีนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ว่าเอาเงินเดือนมาคูณ 12 เดือนแล้วจะเป็นยอดเงินของรายได้ทั้งหมด แต่ต้องคำนวณจากการหักค่าใช้จ่ายต่างๆ อีก อาทิ ค่าใช้จ่าย 40% (ตามกฎหมาย) ค่าลดหย่อนภาษีที่มีมากมาย เช่น เงินบริจาค การซื้อประกันชีวิต ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา ค่าดูแลบุตร ค่าประกันสังคม เป็นต้น* เมื่อนำทั้งหมดมาลบด้วยจำนวนรายได้ต่อปีก็คือเงินที่เหลือ

หากไม่เกิน 150,000 บาท ก็ได้รับยกเว้นการเสียภาษี แต่ถ้าคำนวณแล้วเหลือเกินยอดจำนวนนี้ ก็ต้องเสียภาษีตามตารางอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั่นเอง โดยจ่ายเป็นรายปี แต่หากจ่ายไปแล้ว กลับทำงานไม่ครบ 12 เดือน ก็สามารถยื่นเรื่องทำการขอภาษีคืนได้

ตัวอย่างของการคำนวณการเสียภาษี (เบื้องต้น)
คุณ A ได้รับเงินเดือน 15,000 บาท/เดือน โดยที่ไม่มีรายได้ส่วนใดเพิ่มเติม มาคำนวณว่า คุณ A จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่

เงินเดือน 15,000 X 12 เดือน = 180,000 บาท/ปี
หักค่าใช้จ่าย 40% (แต่ไม่เกินคนละ 60,000 บาท) = 180,000 X 40% = 72,000*
(*แต่ในกฎหมายระบุให้ได้ไม่เกินคนละ 60,000 บาท) = 60,000 บาท
นำรายได้ต่อปี 180,000 – ค่าใช้จ่าย 60,000 = 120,000 บาท
หักค่าลดหย่อนภาษี
(ของตัวเอง : จากรายการลดหย่อนฯ และยกเว้น จากหักค่าใช้จ่าย) = 30,000 บาท
หักค่าประกันสังคม
(เงินเดือน : 15,000 X 5 % X 12 เดือน) = 9,000 บาท
= 39,000 บาท
สรุปเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย (120,000 – 39,000) = 81,000 บาท
หากมองตามตารางอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะอยู่ที่ไม่เกิน 100,000 บาท = ยกเว้นการเสียภาษี

คุณ B ได้รับเงินเดือน 30,000 บาท/เดือน โดยที่ไม่มีรายได้ส่วนใดเพิ่มเติม มาคำนวณว่า คุณ B จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่าไหร่

เงินเดือน 30,000 X 12 เดือน = 360,000 บาท/ปี
หักค่าใช้จ่าย 40% (แต่ไม่เกินคนละ 60,000 บาท) = 60,000 บาท
นำรายได้ต่อปี 360,000 – ค่าใช้จ่าย 60,000 = 300,000 บาท
หักค่าลดหย่อนภาษี
(ของตัวเอง : จากรายการลดหย่อนฯ และยกเว้น จากหักค่าใช้จ่าย) = 30,000 บาท
หักค่าประกันสังคม
(15,000 X 5% X 12 เดือน) = 9,000 บาท
ฐานการหักค่าประกันฯ สูงสุด คือ 15,000 บาท = 39,000 บาท

สรุปเงินได้สุทธิ (300,000 – 39,000) = 261,000 บาท

จากตารางฯ แสดงให้เห็นว่า จำนวนเงินที่ 0 ถึง 150,000 ไม่ต้องเสียภาษี
จึงนำเงินสุทธิมาหักจากจำนวนเงินสูงสุดที่ไม่ต้องเสียภาษีคือ 150,000 = เงินเหลือ
= 111,000 บาท

แต่ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบเงินสุทธิที่ตารางฯ แล้วเกิน 150,000 ถึง 500,000 จะต้องเสียภาษี 10%
จึงต้องนำเงินเหลือข้างต้น มาคูณกับอัตราภาษี 10%
เท่ากับ (111,000 X 10%) = จำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีรายปี = 11,100 บาท/ปี

สรุปภาพรวมคือ ถ้าเงินเดือนน้อยกว่า 20,000 บาท/เดือน (ไม่รวมเงินได้จากแหล่งอื่น) ก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่อย่าลืมว่า การเสียภาษีคือหน้าที่ของประชาชนทุกคนนะคะ หากคุณต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม เกี่ยวกับสิทธิของการลดหย่อนภาษีต่างๆ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กรมสรรพากร โดยตรง หรือเข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.rd.go.th

 
ใส่ความเห็น

Posted by บน 28/03/2012 นิ้ว ภาษี

 

7 วิธีที่ช่วยให้การวางแผนการเงินง่ายขึ้น


การวางแผนการเงินเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะเป็นวิธีที่ทำให้เรารู้ได้ว่า ในเดือนหนึ่งเราใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดรายจ่ายส่วนเกินลงได้แล้ว ยังช่วยให้คุณมีเงินเก็บเพิ่มขึ้นด้วย…และนี่คือ 7 วิธีที่ได้ผลที่ควรลองทำตามดู

1. ควบคุมการใช้จ่าย โดยแบ่งรายได้ออกเป็นเปอร์เซ็นต์ดังนี้ 60% คือเงินที่ต้องใช้ประจำทุกเดือน เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าอาหาร ค่ารถ 10% คือเงินที่เก็บออมไว้ ในยามเกษียณ 10 % สำหรับ สำหรับเก็บไว้ในระยะยาว เอาไว้โปะหนี้ หรือคุณอาจนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อยก็ได้ 10 % เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าซ่อมเครื่องใช้ในบ้าน ค่าของขวัญ และ 10 % สุดท้ายเผื่อไว้สำหรับความบันเทิง เช่น ดูหนัง ฟังคอนเสิร์ต เป็นต้น

2. ฝึกนิสัยการเซฟเงินให้เป็นไปโดยอัตโนมัติ ว่าเงินส่วนไหนควรเก็บออม เงินส่วนไหนควรใช้จ่าย นอกจากนี้ ควรทำบัญชีหลักเพียง 2 บัญชี คือ บัญชีสำหรับใช้จ่ายฉุกเฉิน และ บัญชีสำหรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ การทำเช่นนี้อาจดูยุ่งยากอยู่สักหน่อย แต่ก็จะช่วยให้คุณจัดสรรการใช้เงินได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องมาปวดหัวภายหลัง

3. ใช้เงินสดจ่ายทุกอย่าง เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำมัน ค่าบัตรเครดิต ฯลฯ โดยให้เบิกเงินแค่เดือนละสองครั้งเท่านั้น วิธีนี้ดีกว่าการใช้เช็คหรือบัตรเครดิตเป็นไหนๆซึ่งเราจะได้ไม่เผลอใช้จ่ายเงินเกินตัวด้วย หากจะใช้บัตรเครดิตก็ต่อเมื่อถึงคราวจำเป็นจริๆเท่านั้น

4. แบ่งเวลา 15-20 นาที ต่อสัปดาห์ เพื่อตรวจสอบการใช้เงินของตัวเองว่า เราใช้จ่ายไปมากน้อยแค่ไหน ใช้เงินเกินงบหรือไม่ โดยอาจใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สร้างตารางขึ้นมา แล้วบันทึกค่าใช้จ่ายเรียงลำดับก่อนหลังตามความจำเป็นให้พยายามตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป วิธีนี้จะช่วยให้เราใช้เงินได้ตามแผนที่วางไว้

5. แบ่งเงินใส่ซองแต่ละซอง โดยเขียนหน้าซองไว้ว่า ซองนี้ซองนั้นสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ซึ่งหากใช้เงินไม่หมดซองเราก็สามารถเช็คได้ง่าย แล้วยังเก็บไว้สมทบเป็นค่าใช้จ่ายในเดือนหน้าได้อีกด้วย วิธีนี้อาจดูโบราณไปหน่อย แต่ก็ได้ผลอย่างดีไม่น่าเชื่อ

6. ตัดใจบอกยกเลิกบัตรเครดิตบางบัตรที่ไม่จำเป็นไปบ้าง จะได้ช่วยลดภาระหนี้สินลงได้ และยังเป็นการป้องกันไม่ให้ใช้จ่ายเงินเกินตัวด้วย ถ้าเป็นไปได้ให้ใช้แต่บัตรเดบิต (ที่หักเงินจากบัญชีธนาคารของเรา) เพียงอย่างเดียว

7. จ่ายบิลทุกอย่างในเวลาเดียวกัน เช่น ถ้าครบกำหนดชำระในวันที่หนึ่งของทุกเดือน ก็ให้รวบรวมทุกบิลไปจ่ายพร้อมกันทีเดียวเลย จะได้รู้ว่าเดือนหนึ่งมีค่าใช้จ่ายหลักๆ เท่าไร และเงินส่วนไหนที่สามารถจะเก็บออมไว้ได้บ้าง

 
ใส่ความเห็น

Posted by บน 26/03/2012 นิ้ว ออมเงิน

 

ป้ายกำกับ: ,